โครงการสนับสนุนโดย World Population Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์
โครงการโลกหมุนได้ด้วยมือฉัน  : ทักษะชีวิต / เพศศึกษาสำหรับวัยรุ่นตอนต้น

“ก่อนได้เรียน หนูมีความรู้สึกว่าไม่เห็นจำเป็นจะต้องรู้ในเรื่องเหล่านี้เลย เพราะมันเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ โดยเฉพาะตัวหนูไม่ค่อยสนใจในเรื่อง ที่เกี่ยวกับชาย-หญิงเท่าไหร่นัก เพราะจะให้ความสำคัญในเรื่องของการเรียนทางวิชาการอย่างเดียว จนกระทั่งเมื่อหนูมีความรู้สึกที่ดีต่อเพศตรงข้าม เริ่มมีแฟน   และเมื่อหนูมีประจำเดือน แล้วประจำเดือนขาดๆ หายๆ ไปปรึกษาเพื่อน เพื่อนก็ไม่รู้ และก็ไม่กล้าไปปรึกษาแม่ หลังจากที่ได้เรียนหลักสูตร โลกหมุนได้ด้วยมือฉันแล้ว ให้หนูเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองมากยิ่งขึ้น และเริ่มรู้สึกว่าการเรียนรู้ในเรื่องทักษะชีวิตในช่วงวัยรุ่นนั้นสำคัญ  ไม่ใช่เรื่องไร้สาระอย่างที่เคยคิดเมื่อก่อนและทำให้รู้เท่าทันผู้ชายและการวางตัวที่ดีเพื่อไม่ให้ตนเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์


และสิ่งที่หนูกังวลเกี่ยวกับร่างกายของหนู เช่น ประจำเดือนขาดๆ หายๆ  มี เมือกขาวๆ ออกมาติดอยู่ที่กางเกงใน เป็นต้น ทำให้หนูเข้าใจ และรู้จักวิธีการที่ถูกต้องในการดูแลตนเองในช่วงวัยรุ่น  และก็จากสิ่งที่ครูสอนว่าหากหนูทะเลาะกับแม่ และหากรู้สึกว่าคุณแม่ไม่เข้าใจ ให้เราเปิดอกพูดคุยกับคุณแม่ หากเราเปิดใจพูดแล้วจะทำให้คุณแม่มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งตอนนี้ทำให้คุณแม่มีความเข้าใจหนูขึ้นค่ะ แต่อาจจะไม่ทุกเรื่องแต่ก็ทำให้หนูสามารถพูดคุยกับคุณแม่ได้บ้างค่ะ เพราะเมื่อก่อนไม่สามารถคุยอะไรกับคุณแม่ได้เลย”

ด.ญ.จารุทรรศน์ ทรงทอง นักเรียนชั้น ม.2/1 (ตาล) โรงเรียนวัดปากบ่อ
 เริ่มเรียนหลักสูตรโลกหมุนได้ด้วยมือฉันเมื่อปีการศึกษา 2551

ในปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง (Beijing Declaration and Platform for Action – BFPA) ได้ระบุถึงแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 12 เรื่อง   หลักสูตรโลกหมุนได้ด้วยมือฉัน ซึ่งปรับปรุงมาจากหลักสูตร The World Starts With Me (WSWM) และเสริมเพิ่มเนื้อหาบางส่วนให้เหมาะกับบริบทสังคมไทย ได้ตอบสนองต่อแผนปฏิบัติการเร่งด่วนอย่างน้อย 6 เรื่อง กล่าวคือ การให้เด็กหญิงมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องรอบด้าน เพื่อให้สามารถตัดสินใจ อย่างถูกต้อง ในเรื่องที่เกี่ยวกับอนาคตและสุขภาพของตนเอง และยืนหยัดในสิทธิของตนเองในการได้รับบริการด้านสุขภาพ ข้อเขียนข้างต้นของน้องตาล คงพอทำให้เราเห็นภาพว่าหลักสูตรโลกหมุนได้ด้วยมือฉันสามารถช่วยให้เด็กรู้ถึงสภาพความแตกต่างตามธรรมชาติระหว่างเพศหญิงและเพศชาย และสามารถปรับตัว ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง ในช่วงวัยรุ่นได้   การเรียนรู้เรื่องบทบาทความเป็นหญิงเป็นชายที่สังคมคาดหวังเอาจากแต่ละเพศ ช่วยให้วัยรุ่นหญิงหลายคนตั้งคำถาม ต่อสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น เหล่านี้และเริ่มคิด ที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใกล้ตัวที่ไม่เป็นธรรมหลายๆ เรื่อง เช่น การตั้งคำถามต่อสื่อที่นำเสนอภาพผู้หญิงผู้ชายในแบบหนึ่งๆ หรือการที่งานบางอย่างถูกโอนให้เพศใดเพศหนึ่งทำ

 ไม่เพียงเท่านั้น กระบวนการเรียนในห้องซึ่งเป็นบรรยากาศที่ปลอดภัยและสบายใจต่อการเรียนรู้เรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้ ค่อยๆ บ่มเพาะอำนาจจากภายใน ให้แก่วัยรุ่น หญิงหลายๆ คน  พวกเขาเริ่มจากการรู้จักและเข้าใจร่างกายและอารมณ์ของตนเอง เรื่อยไปจนถึงการเคารพตนเองและเคารพในสิทธิของผู้อื่นที่แตกต่างออกไป
           “หนูได้เรียนหลักสูตรนี้แล้วหนูกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้นค่ะ และในระหว่างที่คุณครูแนนสอน คุณครูแนนจะมีคำถามให้พวกหนูได้คิดและคุยกับเพื่อนๆ ภายในห้องทำให้หนูรู้สึกว่าหนูมีความเข้าใจคนอื่น และเข้าใจเพศตรงข้ามมากยิ่งขึ้น และยังได้รู้ว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (ที่ถูกขนานนามว่าเป็น  ตุ๊ด กระเทย ทอม ดี้ เลสเบี้ยน) คนเหล่านี้ไม่ใช่คนที่ผิดปกติ หรือเป็นโรคจิต เค้ามีรสนิยมที่แตกต่างจากพวกเราเท่านั้นเอง เราต้องปฏิบัติต่อเค้าเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป”
การที่จะนำหลักสูตรไปใช้ได้ดีในห้องเรียน เงื่อนไขที่สำคัญหนึ่งได้แก่การที่ครูผู้สอนจำเป็นต้องผ่านการอบรมจากบ้านเพื่อนใจวัยทีน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เสียก่อน   ผลดีจากการที่ครูผ่านการอบรมที่เน้นย้ำในเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศต่างๆ ภาพเหมารวมตายตัวเกี่ยวกับบุคคลกลุ่มต่างๆ (ตามเพศ ชนชั้น ศาสนา เชื้อชาติ สภาพร่างกายและสุขภาพ อายุ ฯลฯ) การยอมรับความหลากหลาย การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ มีผลโดยตรงต่อทัศนคติของครู และมีผลทางอ้อมต่อการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รู้เท่าทันความเข้าใจผิดต่างๆ ที่ทำงานหยั่งรากลึกในสังคมจนกลายเป็นความเชื่อและภาพเหมารวม ซึ่งท้ายที่สุด สามารถนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ได้
“ก่อนการอบรม  รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากและลำบากใจเพราะเป็นเรื่องที่ใหม่ และไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เพราะไม่เคยสอนมาก่อน   ขาดความถนัด ประกอบกับสังคมไทยยังไม่ยอมรับเท่าที่ควร และเป็นคนหัวโบราณ กลัวว่าสอนไปแล้วจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก”
“หลังการอบรม เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ค่อนข้างยอมรับได้ 80% และคิกว่าจะยอมรับได้เต็ม 100% เมื่อผ่านการสอนมาหลายปีทัศนคติเปลี่ยนไป เห็นความสำคัญว่าเป็นเรื่องที่ต้องอำนวยการเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องให้กับนักเรียนและให้นักเรียนมีความรู้รอบด้านเนื่องจากปัจจุบันปัญหาดังกล่าวในประเทศไทยมีมาก ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในทุกฝ่าย”

นงลักษณ์ ศรีศักดา  ร.ร.พระยามนจาตุราษฎร์ศรีพิจิตร์

ความเป็นมาและความก้าวหน้าของโครงการ

ในปี 2547 กรุงเทพมหานครซึ่งมีนโยบายที่จะส่งเสริมทักษะชีวิตและความเคารพนับถือตนเองให้แก่วัยรุ่น ได้ร่วมมือกับบ้านเพื่อนใจวัยทีน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ทำโครงการเสริมสร้างสิทธิอนามัยเจริญพันธ์ในวัยรุ่น ซึ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำให้แก่นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสใน 6 โรงเรียน  และประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างแกนนำเยาวชน   นักเรียนหลายคนมีโอกาสนำทักษะตรงนี้ ไปช่วยเหลืองานโรงเรียน งานชุมชน ให้คำปรึกษาเพื่อน และยังได้ใช้เป็นบันไดในการศึกษาต่ออีกด้วย
จากความสำเร็จดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงเห็นว่า โรงเรียนต่างๆ สมควรที่จะมีโครงการลักษณะเดียวกันที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างเหมาะสม   เพราะฉะนั้น ในปี 2549 เมื่อได้ทราบจากสำนักการศึกษาว่า มีโครงการ “โลกหมุนได้ด้วยมือฉัน” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาหลักสูตรทักษะชีวิต เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่วัยรุ่น  กรุงเทพมหานครจึงให้การสนับสนุนและต้องการให้โครงการมีความยั่งยืนต่อไป  ด้วยเหตุนี้ เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักการศึกษาจึงได้มีนโยบายให้ทุกโรงเรียนนำโครงการนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมแนะแนวในระดับชั้นมัธยมต้น
เนื่องจากทักษะชีวิตเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ บ่มเพาะ  การที่วัยรุ่นหญิงมีโอกาสเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในพื้นที่ที่ปลอดภัยอย่างโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาความเคารพนับถือตนเอง เคารพนับถือสิทธิของผู้อื่น และมีทัศนคติที่ดีต่อร่างกายตนเอง ต่อความแตกต่างหลากหลาย และต่อเรื่องเพศ   ในอนาคตข้างหน้า นักเรียนวัยรุ่นเหล่านี้ก็จะเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและเป็นพลังความเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้นๆ ไป
ข้อมูลจากการติดตามการเรียนการสอนโครงการนี้ในโรงเรียนต่างๆ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนสามารถนำตนเองให้พ้นจากสถานการณ์เสี่ยงได้ เนื่องจากเนื้อหาของหลักสูตร ทำให้พวกเขาได้รับข้อมูลที่รอบด้าน รู้เท่าทัน รู้จักแก้ปัญหา และมีอาวุธในมือ ซึ่งก็คือ ทักษะการยืนหยัด การต่อรอง และความเคารพนับถือตนเอง ที่จะจัดการกับสถานการณ์ยากลำบากต่างๆ ได้
นับจนถึงขณะนี้ คณะทำงานจากสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ได้อบรมครูจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครไปแล้วเกือบ 300 คน จาก 100 โรงเรียน   ผลดีที่เห็นได้ชัดเจนจากการอบรมดังกล่าว ได้แก่ การที่ครูเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อเรื่องสุขภาวะทางเพศของเยาวชน และมีทักษะเพิ่มขึ้นในเรื่องแนวทาง การจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ กล่าวคือ การอำนวยการเรียนรู้ อันเป็นแนวทางที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง และเปิดโอกาสให้นักเรียน มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงครูกลายเป็นผู้ที่นักเรียนวัยรุ่นไว้วางใจ และเดินเข้าไปขอคำปรึกษาเมื่อตนเองมีปัญหา  จึงนับว่าโครงการนี้มีส่วนอย่างมาก ที่ช่วยตอบสนองภารกิจ สำคัญภารกิจหนึ่งของปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง

รุ่นที่

จำนวนโรงเรียน

อบรมเมื่อ

1

6

7-12    พฤษภาคม 2549 

2

14

15-18  ตุลาคม 2549 

3

17

8-12    ตุลาคม 2540

4

14

19-22  มีนาคม  2551

5

17

12 - 18 ตุลาคม 2541   

6

20

26 ตุลาคม –  1 พฤศจิกายน 2551   

7

8 ร.ร.ใหม่ + ร.ร.เก่า

16-22  มีนาคม 2552

8

4 ร.ร.ใหม่ + ร.ร.เก่า

30 มีนาคม-3 เมษายน 2552

100 ร.ร.